5G กวนจานดำ กสทช. แนะตัดสินใจให้ดีก่อนเปลี่ยนหัวรับสัญญาณดาวเทียม

https://www.tcijthai.com/news/2020/6/current/10514

5G กวนจานดำ กสทช. แนะตัดสินใจให้ดีก่อนเปลี่ยนหัวรับสัญญาณดาวเทียม

กสทช. ระบุว่าในช่วงนี้มีการร้องเรียนเรื่องการตั้งเสาสัญญาณ 5G รบกวนจานดำ จนทำให้ดูโทรทัศน์ดาวเทียมตามปกติไม่ได้ ล่าสุดมีผู้ที่พักอาศัยแถวสุขุมวิทร้องเรียนมาที่ กสทช. โดยแจ้งว่าช่างติดตั้งจานดาวเทียมได้ไปดูแล้วยืนยันว่าเป็นการรบกวนจากเสาสัญญาณ 5G ที่เพิ่งติดตั้งใหม่ในบริเวณนั้น และช่างยังบอกด้วยว่าพบปัญหานี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เปิดเผยว่า จากการสอบถามสำนักงาน กสทช. ได้ข้อมูลว่า ในต่างจังหวัดก็เริ่มมีการร้องเรียนในประเด็นนี้เข้ามาเช่นกัน ในส่วนการรบกวนนั้น กสทช. ยังไม่ได้จัดสรรคลื่น 3500 MHz หรือ 3.5 GHz สำหรับให้บริการ 5G เพราะต้องรอให้สัมปทานไทยคมสิ้นสุดลงในปี 2564 ก่อน จึงไม่ใช่การรบกวนจากการใช้งานคลื่นความถี่ย่านเดียวกับจานดำ แต่น่าจะเกิดจากการรบกวนโดยคลื่นย่านอื่นที่ใกล้เคียงกัน และ กสทช. เพิ่งจัดสรรคลื่น 2600 MHz หรือ 2.6 GHz สำหรับบริการ 5G จึงเป็นไปได้ว่า เสา 5G ที่ร้องเรียนคือเสา 2600 MHz

นายประวิทย์กล่าวต่อว่า ในทางเทคนิคแล้วการรบกวนข้ามย่านความถี่อาจเกิดจากการที่เสาสัญญาณหลายแหล่งซึ่งแม้จะปล่อยสัญญาณ 2600 MHz เป็นความถี่หลัก แต่อาจมีคลื่นความถี่คู่ควบ (Harmonics) ออกมาด้วย ซึ่งสัญญาณจากหลายแหล่งกำเนิดอาจผสมกัน (Intermodulation) ทำให้เป็นคลื่นความถี่ใหม่ไปรบกวนจานดำ หากเป็นกรณีนี้ต้องปรับปรุงการส่งสัญญาณเพื่อลดการผสมคลื่นจนเป็นคลื่นรบกวน หรืออีกกรณีหนึ่งอาจเกิดจากหัวรับสัญญาณดาวเทียม (LNB) เป็นรุ่นเก่า ซึ่งมีย่านการรับสัญญาณครอบคลุมคลื่น 2600 MHz ด้วย เมื่อตั้งเสา 5G แล้ว ก็จะทำให้คลื่น 2600 MHz ซึ่งส่งด้วยความแรงกว่าสัญญาณดาวเทียมนับพันเท่าไปรบกวนจานดำได้ ในกรณีนี้ต้องเปลี่ยน LNB ให้เป็นรุ่นใหม่ที่รับเฉพาะสัญญาณ C-band เท่านั้น

“ในเบื้องต้นได้มีการตรวจวัดคลื่นที่สุขุมวิทแล้ว โดยทางสำนักงานได้เชิญผู้ประกอบการ 5G และผู้ประกอบการจานดาวเทียมไปร่วมตรวจสอบด้วย พบว่าเป็นกรณีที่ LNB ที่ใช้งานมาเป็น 10 ปี รับสัญญาณ 2600 MHz ได้ด้วย เมื่อเปลี่ยน LNB รุ่นใหม่แล้วก็สามารถรับชมรายการได้ตามปกติ” นายประวิทย์ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายประวิทย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ผู้รับชมโทรทัศน์ดาวเทียมกำลังประสบก็คือ เมื่อต้นปีต้องเปลี่ยนหัวรับสัญญาณดาวเทียมหรือเปลี่ยน LNB จากการที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้งานไม่ได้ไปแล้ว และปัจจุบันอาจต้องเปลี่ยน LNB เพื่อไม่ให้รับสัญญาณ 2600 MHz ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหากมีการจัดสรรคลื่น C-band ไปให้บริการ 5G ก็จะต้องเปลี่ยน LNB ที่ตัดสัญญาณ 5G อีก เพราะเป็นความถี่ที่ติดกับคลื่นโทรทัศน์ดาวเทียมโดยตรง ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องวางแผนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า และในการแนะนำเปลี่ยนอุปกรณ์ก็ต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านว่าเป็นการแก้ปัญหาในลักษณะใด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ผู้รับชมโทรทัศน์ดาวเทียมต้องประสบปัญหาการรับชมและปัญหาค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทุกปี ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ขณะที่ในส่วนของสำนักงาน กสทช. ก็ต้องเร่งดำเนินการติดตามผลการทดสอบการรบกวนระหว่าง 5G กับโทรทัศน์ดาวเทียม และเตรียมมาตรการรองรับต่างๆ ทั้งนี้รวมถึงการดูแลให้ผู้ให้บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตการรับ/กรองคลื่นความถี่ของหัวรับสัญญาณ LNB รวมทั้งควรเตรียมกำหนดแนวทางแก้ไขป้องกันปัญหาและเยียวยาประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ท้ายสุดนายประวิทย์ย้ำว่า ถ้าประชาชนคนไหนที่ประสบเหตุการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์แล้วรบกวนจานดาวเทียม อยากให้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. สายด่วน 1200 เพื่อสำนักงาน กสทช. จะได้ส่งทีมไปตรวจวัดคลื่นและหาสาเหตุ รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขการรบกวนต่อไป ส่วนใครที่กำลังตัดสินใจจะเปลี่ยนหัวรับสัญญาณดาวเทียม ก็ต้องสอบถามผู้จำหน่ายให้แน่ชัดว่าหัวรับสัญญาณดาวเทียมนั้นเป็นรุ่นใด สามารถรับคลื่นความถี่ย่านใดได้บ้าง หรือสามารถตัดหรือกรองคลื่นในย่าน 2600 MHz และในย่าน 3500 MHz ได้หรือไม่ เพื่อไม่ต้องเสียรู้แถมเสียเงินที่ต้องเปลี่ยนหัวรับสัญญาณใหม่ไปเรื่อย ๆ ในอนาคต